วันศุกร์ที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2551

ประวัติเมืองศรีสะเกษ

ก่อนสมัยกรุงศรีอยุธยา
ความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ของจังหวัดศรีสะเกษก่อนสมัยกรุงศรีอยุธยา ไม่ปรากฎหลักฐานแน่นอน มีการจดบันทึกไว้พอสังเขป ส่วนมากได้จากคำบอกเล่าของผู้สูงอายุเล่าต่อๆ กันมา เอาความแน่นอนไม่ได้นัก นักประวัติศาสตร์และนักโบราณคดีสันนิษฐานว่า พื้นที่ภาคอีสานในปัจจุบันเคยเป็นที่อยู่ของพวกละว้าและลาว มีแว่นแคว้นอาณาเขตปกครองเรียกว่า "อาณาจักรฟูนัน" ประมาณปี พ.ศ.1100 พวกละว้าที่เคยมีอำนาจปกครอง อาณาจักรฟูนันเสื่อมอำนาจลง ขอมเข้ามามีอำนาจแทนและตั้งอาณาจักรเจนละหรืออิศานปุระขึ้น พวกละว้าถอยร่นไปทางเหนือ ปล่อยให้พื้นที่ภาคอีสานรกร้างว่างเปล่าเป็นจำนวนมากเขตพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษและจังหวัดใกล้เคียงจึงถูกทิ้งให้เป็นที่รกร้างและเป็นป่าดง ขอมได้แบ่งการปกครองเป็น 3 ภาคโดยมีศูนย์การปกครองอยู่ที่ละโว้(ลพบุรี) พิมาย(นครราชสีมา)และสกลนคร มีฐานะเป็นเมืองประเทศราช ขึ้นตรงต่อศูนย์กลางการปกครองใหญ่ที่นครวัด ในยุคที่ขอมเรืองอำนาจ ศรีสะเกษน่าจะเป็นดินแดนแห่งหนึ่งที่ขอมใช้เป็นเส้นทางไปมาระหว่างเมืองประเทศราชดังกล่าวแล้ว เพราะปรากฎโบราณสถานโบราณวัตถุของขอมซึ่งกรมศิลปากรสำรวจในจังหวัดศรีสะเกษเมื่อ พ.ศ.2512 จำนวน15 แห่ง ไม่รวมเขาพระวิหารซึ่งเป็นเทวะสถานของขอมที่ยิ่งใหญ่แห่งหนึ่ง นอกจากนี้ยังมีปราสาทหินสระกำแพงใหญ่สระกำแพงน้อย ปราสาทลุมพุก ปราสาทบ้านทามจาน(บ้านสมอ)ปราสาทเยอ ปราสาทโดนต็วล (ช่องตาเฒ่า อ.กันทรลักษ์)สันนิษฐานว่าโบราณสถานเหล่านี้มีอายุประมาณ 1,000 ปีเศษมีอยู่ตามท้องที่อำเภอต่างๆ ของจังหวัดศรีสะเกษ ขอมคงสร้างขึ้นเพื่อเป็นที่พักและประกอบพิธีทางศาสนาระหว่างเดินทางจากนครวัด นครธมข้ามเทือกเขาพนมดงรักษ์มาสู่ศูนย์กลางการปกครองภาคอีสานทั้ง 3 เมืองดังกล่าวแล้ว เมื่อขอมเสื่อมอำนาจลง ไทยเริ่มมีอำนาจครอบครองดินแดนเหล่านี้ ขณะเดียวกันจังหวัดศรีสะเกษมีสภาพเป็นป่าดงอยู่นานเพราะแม้แต่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนกลางก็มิได้บันทึกกล่าวถึงจังหวัดศรีสะเกษในเอกสารใด เพิ่งจะได้มีการบันทึกหลักฐานในพงศาวดารกล่าวถึงเมืองสุรินทร์ด้วย
สมัยกรุงศรีอยุธยา
ในสมัยกรุงศรีอยุธยาอาณาจักรไทยกว้างขวางมาก มีชาวบ้านป่าซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อย ( MINORITY TRIBE )อาศัยอยู่แถบเมืองอัตปือแสนแป แคว้นจำปาสักฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวปัจจุบัน ชนพวกนี้เรียกตัวเองว่า "ข่า" ส่วย" "กวย" หรือ "กุย" อยู่ในดินแดนของราชอาณาจักรไทย โดยสมบูรณ์ (เพิ่งเสียให้ฝรั่งเศสเมื่อ พ.ศ.2436หรือ ร.ศ.112) พากนี้มีความรู้ความสามารถในการจับช้างป่ามาเลี้ยงไว้ใช้งาน ชาวส่วยหรือชาวกวยได้อพยพย้ายที่ทำมาหากินข้ามมาฝั่งขวาแม่น้ำโขง เนื่องจากชาวเมืองศรีสัตนาคนหุต(เวียงจันทน์) ได้เข้าไปตั้งถิ่นฐานแย่งที่ทำมาหากิน ในปี พ.ศ.2260 ชาวส่วยได้อพยพแยกออกเป็นหลายพวกด้วยกัน แต่ละพวกมีหัวหน้าควบคุมมา เช่น เซียงปุม เซียงสีเซียงสง ตากะจะและเซียงขัน เซียงฆะ เซียงไชย หัวหน้าแต่ละคนก็ได้หาสมัครพรรคพวกไปตั้งรกรากในที่ต่าง ๆ กัน เวียงปุม อยู่ที่บ้านที เซียงสีหรือตะกะอาม อยู่ที่รัตนบุรี เซียงสงอยู่บ้านเมือลีง (อำเภอจอมพระ) เซียงฆะ อยู่ที่สังขะ เวียงไชยอยู่บ้านจารพัด (อำเภอศรีขรภูมิ) ส่วนตากะจะและเซียงขัน อยู่ที่บ้านปราสาทสี่เหลี่ยมดงลำดวน(บ้านดวนใหญ่ปัจจุบัน) พวกส่วยเหล่านี้อยู่รวมกันเป็นชุมชนใหญ่ หาเลี้ยงชีพด้วยการเกษตรและหาของป่ามาบริโภคใช้สอย มีการไปมาหาสู่ติดต่อกันระหว่างพวกส่วยอยู่เสมอ มีสภาพภูมิประเทสติดต่อเขตกัมพูชา และมีเทือกเขาพนมดงรักเป็นเส้นกันเขตแดน ป่าดงเขตนี้มีฝูงสัตว์ป่าอุดมสมบูรณ์ โขลงช้างพัง ชางพลาย ฝูงเก้งกวาง ละมั่งและโคแดงอยู่มากมายตามทุ่งหญ้าและราวป่า เหมาะกับการทำมาหาเลี้ยงชีพของชาวส่วยอย่างยิ่ง ลุ พ.ศ.2302 ปีเถาะ จุลศักราช 1181 ตรงกับสมัยแผ่นดินพระบรมราชาที่ 3 หรือพระเจ้าอยู่หัวพระที่นั่งสุริยามรินทร์ (พระเจ้าเอกทัศน์) กษัตริย์องค์สุดท้ายของกรุงศรีอยุธยา พระยาช้างเผือกของพระองค์ได้แตกออกจากโรงช้างต้นในกรุงศรีอยุธยา เดินทางมาทิศตะวันออกเฉียงเหนือ โปรดให้ทหารเอกคู่พระทัยสองพี่น้อง (เข้าใจว่าสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก พระนามเดิมทองด้วง และกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท พระนามเดิมบุญมา) คุมไพร่พล 30 นาย ออกติดตามผ่านมาแขวงพิมาย ทราบจากเจ้าเมืองพิมายว่า ในดงริมเขาพนมดงรักมีพวกส่วยชำนาญใชการจับช้าง เลี้ยงช้าง สองพี่น้องกับไพร่พล จึงได้ติดตามสองพี่น้องไปเซียงสีไปที่บ้านกุดหวาย(อำเภอรัตนบุรี) เซียงสีจึงได้พาสองพี่น้องและไพร่พลไปตามหาเซียงสง ที่บ้านเมืองลีง เซียงปุ่มที่บ้านเมืองที เซียงไชยที่บ้านกุดปะไท ตากะจะและเซียงขัน ที่บ้านโคกลำดวน เซียฆะที่บ้านอัจจะปะนึง (เขตอำเภอสังขะ) ทุกคนร่วมเดินทางติดตามพระยาช้างเผือก สองพี่น้องและหัวหน้าป่าดงทั้งหมด ได้ติดตามล้อมจับพระยาช้างเผือกได้ที่บ้านหนองโชก ได้คืนมาและนำส่งถึงกรุงศรีอยุธยา ด้วยความดีความชอบในครั้งนี้สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวสริยามรินทร์ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งให้หัวหน้าบ้านป่าดงมีบรรดาศักด์ทั้งหมด ตากะจะหัวหน้าหมู่บ้านโคกลำ-ดวน ได้เป็นหลวงแก้วสุวรรณเซียงขันได้เป็นหลวงปราบอยู่กับตากะจะ ต่อมาหัวหน้าหมู่บ้านป่าดงทั้ง 5 ได้พากันไปเฝ้าสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ณ กรุงศรีอยุธยา โดยนำสิ่งของไปทูลเกล้าฯ ถวาย คือช้าง ม้า แก่นสน ยางสน ปีกนก นกระมาด (นอแรด) งาช้าง ขี้ผึ้งน้ำผึ้ง เป็นการส่งส่วยตามพระราชประเพณี สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระที่นั่งสุริยามรินทร์ ทรงพิจารณาเห็นความดีความชอบเมื่อครั้งได้ช่วยเหลือจับพระยาช้างเผือก และเมื่อหัวหน้าหมู่บ้านได้นำสิ่งของไปทูลเกล้าฯ ถวาย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งบรรดาศักดิ์ให้หัวหน้าหมู่บ้านสูงขึ้นทุกคน ในปี พ.ศ.2302 นี้เอง หลวงแก้วสุวรรณ(ตากะจะ) บ้านโคกลำดวนได้บรรดาศักดิ์เป็นเป็นพระยาไกรภักดีศรีนครลำดวนมีพระบรมราชโองการยกบ้านปราสาทสี่เหลี่ยมดงลำดวน ซึ่งเดิมเรียกว่า "เมืองศรีนครลำดวน" ขึ้นเป็นเมืองขุขันธ์แปลว่า "เมืองป่าดง" ให้พระยาไกรภักดีศรีนครลำดวนเป็นเจ้าเมืองปกครอง
สมัยกรุงธนบุรี
เมื่อกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่าในปี พ.ศ.2310 แล้ว สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี พระเจ้าตากสินมหาราช ได้ทรงกอบกู้อิสรภาพและทรงตั้งกรุงธนบุรีเป็นราชธานีพ.ศ.2321 ปีจอ จุลศักราช 1140 กรุงศรีสัตนาคนหุต (เวียงจันทน์)เป็นกบฎต่อไทย สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีได้โปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก (พระบามสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช) กับเจ้าพระยาสุรสียห์เป็นแม่ทัพยกขึ้นไปทางเมืองพิมายแม่ทัพสั่งให้เจ้าเมืองพิมายแต่งข้าหลวงออกมาเกณฑ์กำลังเมืองประทายสมันต์ (จังหวัดสุรินทร์) เมืองสังฆะ เมืองขุขันธ์ เมืองรัตนบุรี เป็นทัพบกยกไปตีเมืองเวียงจันทน์ เมืองจำปาศักดิ์ ได้ชัยชนะยอมขึ้นต่อไทยทั้งสองเมือง กองทัพไทยเข้าเมืองเวียงจันทน์ ได้อัญเชิญพระแก้วมรกต และพระบางพร้อมคุมตัวนครจำปาศักดิ์ไชยกุมารกลับกรุงธนบุรีในการศึกครั้งนี้เมื่อเดินทางกลับ หลวงปราบ(เซียงขัน) ทหารเอกในกองทัพ ได้หญิงม่ายชาวลาวคนหนึ่งกลับมาเป็นภรรยา มีบุตรชายติดตามมาด้วยชื่อท้าวบุญจันทน์ พ.ศ.2324 เมืองเขมรเกิดจราจล สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกกับพระยาสุรสีห์ ได้รับพระบรมราชโองการให้เป็นแม่ทัพยกกองทัพไปปราบจราจลครั้งนี้ โดยเกณฑ์กำลังของเมืองปะทายสมันต์ เมืองขุ-ขันธ์ และเมืองสังฆะ สมทบกับกองทัพหลวงออกไปปราบปราม กองทัพไทยยกไปตีเมืองเสียมราฐ กำพงสวาย บรรทายเพชร บรรทายมาศ และเมืองรูงตำแรย์(ถ้ำช้าง) เมืองเหล่านี้ยอมแพ้ ขอขึ้นเป็นขอบขัณฑ-สีมา เสร็จแล้วยกทัพกลับกรุงธนบุรี เมื่อเสร็จสงครามเวียงจันทน์ และเมืองเขมรแล้ว ได้ปูนบำเหน็จให้แก่เจ้าเมืองปะทายสมันต์ เมืองขุขันธ์ และเมืองสังฆะ เลื่อนบรรดาศักดิ์ให้เป็นพระยาให้พระยาทั้งสามเมือง เจ้าเมืองขุขันธ์ ได้บรรดาศักดิ์ใหม่ จากพระยาไกรภักดีศรีนครลำดวน เป็นพระยาขุขันธ์ภักดี ในปีเดียวกันนั้นเอง พระยาขุขันธ์ภักดี(ตากะจะ) ถึงแก่อนิจกรรมจึงโปรดให้หลวงปราบ (เซียงขัน) ขึ้นเป็นพระยาไกรภักดีศรีนครลำ-ดวน เจ้าเมืองขุขันธ์ ต่อมาเมืองขุขันธ์ที่บ้านปราสาทสี่เหลี่ยมดงลำดวนกันดารน้ำ พระยาไกรภักดีฯ จึงอพยพเมืองย้ายมาอยู่บ้านแตระ (แตระ)ตำบลห้วยเหนือ ที่ตั้งอำเภอขุขันธ์ในปัจจุบัน
สมัยกรุงรัตนโกสินทร์
ลุ พ.ศ.2325 ปีขาล จุลศักราช 1144 พระบามสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ พระยาไกรภักดีศรีนครลำดวน(เซียงขัน) ได้บรรดาสักดิ์เป็นพระยาขุขันธ์ภักดี ได้มีใบบอกกราบบังคมทูลข้อตั้งท้าวบุญจันทร์ เป็นพระยาไกรภักดีศรีนครลำดวน ผู้ช่วยเจ้าเมือง อยู่มาวันหนึ่ง พระยาขุขันธ์ภักดี เผลอเรียกพระยาไกรภักดีฯ(บุญจันทร์) ว่า"ลูกเชลย" พระยาไกรภักดีจึงโกรธและผูกพระยาบาทภายหลังมีพ่อค้าญวน 30 คน มาซื้อโคกระบือที่เมืองขุขันธ์ พระยาขุขันธ์ภักดีอำนวยความสะดวกและจัดที่พักให้ญวนตลอดจนให้ไพร่นำทางไปช่องโพย ให้พวกญวนนำโค กระบือไปยังเมืองพนมเปญได้สะดวก พระยาไกรภักดีฯ (บุญจันทร์) ได้กล่าวโทษมายังกรุงเทพฯ และโปรดเกล้า ให้เรียกตัวพระยาขุขันธ์ไปลงโทษและจำคุกไว้ที่กรุงเทพฯ แล้วโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งพระยาไกรภักดีฯ-(บุญจันทร์) เป็นเจ้าเมืองขุขันธ์แทน ในปี พ.ศ.2325 นี้ พระภักดีภูธรสงคราม(อุ่น) ปลัดเมืองขุขันธ์ กราบบังคมทูลขอแยกจากขุขันธ์ไปตั้งที่บ้านโนนสามขาจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยกบ้านโนนสามขาขึ้นเป็นเมือง "ศรีสระเกศ" ต่อมาปี พ.ศ.2328ได้ย้ายเมืองศรีสระเกศจากบ้านโนนสามขา มาตั้ง ณ บ้านพันทาเจียงอีอยู่ในเขตเทศบาลเมืองศรีสะเกษทุกวันนี้ พ.ศ.2342 มีโปรดเกล้าฯ ให้เกณฑ์กำลังเมืองสุรินทร์ เมืองขุขันธ์เมืองสังฆะ เมืองละ 100 รวม 300 ยกทัพไปตีพม่าซึ่งยกมาตั้งในเขตนครเชียงใหม่ กองทัพไทยมิทันไปถึง กองทัพพม่าก็ถอยกลับ จึงโปรดเกล้าฯให้กองทัพไทยยกกลับ พ.ศ.2350 ทรงพระราชดำริว่า เมืองสุรินทร์ เมืองสังฆะ และเมืองขุขันธ์ เป็นเมืองเคยตามเสด็จพระราชดำเนินในการพระราชสงครามหลายครั้งมีความชอบมาก จึงโปรดเกล้าฯ ให้ทั้ง 3 เมือง ขึ้นตรงต่อกรุงเทพฯ มีอำนาจชำระคดีได้เอง ไม่ต้องขึ้นต่อเมืองพิมายเหมือนแต่ก่อน พ.ศ.2369 รัชสมัยสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เจ้าอนุวงศ์ เมืองเวียงจันทน์แต่งตั้งให้เจ้าอุปราช(สีถาน) กับเจ้าราชวงศ์เมืองเวียงจันทรน์ คุมกองทัพบกเข้าตีเมืองรายทางเข้ามาจนถึงเมืองนครราชสีมา ฝ่ายทางเมืองจำปาศักดิ์ เจ้านครจำปาศักดิ์(เจ้าโย่) เกณฑ์กำลังยกทัพมาตีเมืองขุขันธ์จับพระไกรภักดีศรีนครลำดวน (บุญจันทร์) เจ้าเมืองขุขันธ์ กับพระภักดีภูธรสงคราม (มานะ) ปลัดเมืองกับพระแก้วมนตรี(ทศ)ยกกระบัตรกับกรมการได้ ฆ่าตายทั้งหมด เจ้าเมืองสังฆะ และเมืองสุรินทร์หนีได้ทัน กองทัพจำปาศักดิ์ ตั้งค่ายอยู่ที่บ้านส้มป่อย แขวงเมืองขุขันธ์ค่ายหนึ่ง และค่ายอื่น ๆ สี่ค่าย กวาดต้อนครอบครัวไทยเขมรไปเมืองจำปาศักดิ์ จากนั้นมาเมืองขุขันธ์ ไม่มีข้าราชการปกครอง โปรดเกล้าฯ ให้พระยาสังฆะ ไปเป็นพระยาไกรภักดีศรีนครลำดวนเจ้าเมือง ให้พระไชยเป็นพระภักดีภูธรสงครามปลัดเมือง ให้พระสะเทื้อน (นวน) เป็นพระแก้วมนตรียกกระบัตรเมือง ให้ท้ายหล้า บุตรพระยาขุขันธ์(เซียงขัน) เป็นมหาดไทยช่วยกันรักษาเมืองขุขันธ์ต่อไป จากนั้นมาได้มีการเปลี่ยนแปลงตำแหน่งเจ้าเมืองและนามเจ้าเมืองหลายครั้ง พ.ศ.2426 รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระยาขุขันธ์(ปัญญา) เจ้าเมืองกับพระปลัด(จันลี) ได้นำช้างพังสีประหลาดหนึ่งเชือกลงมาน้อมเกล้าฯ ถวายที่กรุงเทพฯ พ.ศ.2433 มีสารตราโปรดเกล้าฯ ให้เมืองศรีสระเกศ(ชื่อเดิม) ไปอยู่ในบังคับบัญชาของข้าหลวงใหญ่ได้โปรดให้หลวงจำนงยุทธกิจ(อิ่ม)กับขุนไผทไทยพิทักษ์(เกลื่อน) เป็นข้าหลวงเมืองศรีสระเกศ พ.ศ.2435 โปรดเกล้าฯ ให้จัดรูปการปกครองแบบมณทลเมืองศรีสiะเกศขึ้นอยู่กับเมณฑลอีสานกองบัญชาการมณฑลอยู่ที่จังหวัดอุบลราชธาณี พ.ศ.2445 เปลี่ยนชื่อมณฑลอีสานเป็น มณฑลอุบลมีเมืองขึ้น 3 เมืองคือ อุบลราชธานี ขุขันธ์ และสุรินทร์ ไม่ปรากฎชื่อเมืองศรีสระเกศสันนิษฐานว่าเมืองศรีสระเกศถูกยุบลงเป็นอำเภอขึ้นกับเมืองขุขันธ์ซึ่งเป็นเมืองเก่ามาแต่เดิม พ.ศ.2447 ย้ายที่ตั้งเมืองขุขันธ์ (ซึ่งอยู่ที่บ้านแตระ ตำบลห้วยเหนืออำเภอขุขันธ์ในปัจจุบัน) มาอยู่ที่ตำบลเมืองเก่า(ปัจจุบันคือตำบลเมืองเหนือในเขตเทศบาลเมืองศรีสะเกษในปัจจุบัน) และยังคงใช้ชื่อ"เมืองขุขันธ์" ยุบเมืองขุขันธ์เดิมเป็นอำเภอห้วยเหนือ(อำเภอขุขันธ์ในปัจจุบันนี้) พ.ศ.2459 กระทรวงมหาดไทย มีประกาศให้เปลี่ยนชื่อเมืองทุกเมืองเป็นจังหวัด เมืองขุขันธ์จึงเป็นเป็นจังหวัดขุขันธ์ เมื่อวันที่ 9พฤศจิกายน พ.ศ.2459 เปลี่ยนผู้ว่าราชการเมืองเป็นผู้ว่าราชการจังหวัด พ.ศ.2481 มีพระราชกฤษฎีกา เปลี่ยนชื่อจังหวัดขุขันธ์ เป็นจังหวัดศรีสะเกษ ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน

1 ความคิดเห็น:

ตั๊ก @ รุตย์ กล่าวว่า...

หนูเข้ามาเรียนต่อที่โรงเรียนปิยะมินทร์คุณารักษ์ตอนนี้ทำงานอยู่ที่โรงพยาบาลเกษมราษฏร์(สุขาภิบาล 3)PCU หทัยราษฏร์
หนูเป็นศิษย์เก่าปี51ค่ะ คิดถึงอาจารย์ทุกท่าน คิดถึงโรงเรียนและเพื่อนๆพี่ๆน้องๆชาวเลือดม่วง-ขาวทุกคน ขอบคุณที่ทำให้ศิษย์ได้มีวันนี้(ขอให้อาจารย์ทุกท่านมีความสุขสุขภาพแข็งแรง)รักและเคารพ
From นิรุตย์@พัชรี